วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ลักษณะของภาพกราฟฟิคในงานออกแบบกราฟฟิค

ลักษณะประเภทของภาพกราฟฟิคที่เราแบ่งออกมาชัดเจนตามประสบการณ์ที่เห็นเป็น3ชนิด
1.ภาพที่ถ่ายทอดตามความเป็นจริง (Realistic)
เป็นภาพที่ดูแล้วเหมือนวัตถุจริงในธรรมชาติมีการเน้นลักษณะรูปร่าง รูปทรง แสงและเงา การใช้สีเหมือนจริงภาพเขียนเหมือนจริง

2.ภาพที่ถ่ายทอดด้วยลักษณะการตัดทอน (Distortion)
เป็นภาพที่พยายามดัดแปลงจากความเหมือนจริงโดยเสริมแต่งตัดทอนใหม่ ลดรายละเอียดบางอย่งภาพในภาพออกไปและขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งเค้าเดิมให้ผู้ดูทราบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอะไร เช่นภาพการ์ตูน ภาพถ่ายบิดเบือน

3.ภาพที่ถ่ายทอดตามความรู้สึก (Abstraction)
เป็นภาพที่ไม่พรรณนาเรื่องราวตามความเป็นจริง แต่มองลึกลงไปในความรู้สึกภาพในวัตถุ หรือเกิดจากอารมณ์ส่วนลึกที่ผู้สร้างได้ถ่ายทอดออกมาเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ภาพที่ดีจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของนักออกแบบกราฟฟิคได้อย่างตรงไปตรงมา

ลักษณะภาพที่เลือกนำมาใช้จะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ดูเกิดอารมณ์คล้อยตาม

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หลักการออกแบบภาพกราฟฟิคและการเลือกใช้ภาพ

หลังจากที่เราได้เรียนรู้หลักการออกแบบกราฟฟิคมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สีในการออกแบบ การใช้เส้นเพื่อกำหนดรูปร่างหรือสร้างตัวอักษร เพื่อใช้ในการออกแบบสิ่งพิมพ์ หรืองานกราฟฟิคชนิดต่างๆ
อีกสิ่งที่สำคัญในการออกแบบงานกราฟฟิคไม่ว่าประเภทได้ก็ตามก็คือการเลือกใช้ภาพกราฟฟิคไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หรือภาพที่สร้างขึ้นเองจากการใช้เส้นและสีในการเขียนหรือออกแบบขึ้นมา การออกแบบรูปภาพประกอบในสื่อใดๆก็ตาม จะสร้างความน่าสนใจได้ดีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของภาพ รายละเอียดของภาพตลอดจนเทคนิควิธีการออกแบบกราฟฟิค ภาพที่นำมาใช้จะต้องสื่อความหมายบรรยายเนื้อหาและมีความสวยงาม องค์ประกอบของภาพที่จะทำให้ภาพมีความโดดเด่นจะต้องประกอบด้วย
1. ลักษณะของภาพจะต้องเหมาะสมตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
2. รูปแบบภาพจะต้องสัมพันธ์กับรูปแบบของงานกราฟฟิคโดยรวมและสอดคล้องกับแนวความคิด (concept)ของงานนั้นๆ
3. สีของภาพต้องชัดเจนตรงตามหลักทฤษฎีการใช้สีที่สื่อความหมาย ดูสวยงามตื่นตา
4. ขนาดของภาพการกำหนดสัดส่วนทั้งหมดของภาพ ภาพที่มีขนาดใหญ่จะดูมีความน่าสนใจแต่อาจจะเป็นภาพเล็กๆหลายๆภาพมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ก็ได้แล้วแต่แนวคิดในการนำเสนอ ภาพที่ใช้อาจจะเหมาะกับงานหนึ่งงานได้โดยเฉพาะ การกำหนดภาพกราฟฟิคว่าเหมาะสมกับงานประเภทใด อาจต้องอาศัยประสบการณ์ของนักออกแบบกราฟฟิคเอง ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะเด่นในบทความต่อไป


ลักษณะของภาพกราฟฟิคที่เด็กและผู้ใหญ่อาจชอบไม่เหมือนกัน

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิธีการออกแบบตัวอักษรกราฟฟิคดีไซน์

วิธีการออกแบบตัวอักษร
การเริ่มต้นออกแบบตัวอักษรควรเริ่มต้นด้วยการเขียนแบบร่างอย่างหยาบ โดยยึดหลักโครงสร้างและส่วนสัดของตัวอักษรเป็นแนวคิดสำคัญในการกำหนดแบบที่ร่างบนแนวเส้นบรรทัด การใช้ตาราง (Grid) ที่มีอยู่ในโปรแกรมออกแบบกราฟฟิคทั่วไปจะช่วยให้การออกแบบมีความสะดวกและง่ายขึ้นเพราะมีเส้นนำอยู่ ทำให้การกำหนดสัดส่วนทำได้ง่ายขึ้น การออกแบบเพื่อให้เกิดความสะดวกในการอ่านมีสิ่งที่จะต้องพิจารณา ดังนี้
1.การกำหนดขนาดของตัวอักษร
2.การกำหนดสัดส่วนของตัวอักษร
3.การกำหนดระยะห่างของตัวอักษรซึ่งมีข้อกำหนด 3 ประการ คือ
3.1 ระยะห่างภายในตัวอักษร
3.2 ระยะห่างระหว่างตัวอักษร
3.3 ระยะห่างระหว่างบรรทัด
4.ความถูกต้องในการจัดวางตำแหน่ง สระ พยัญชนะและวรรณยุกต์

เราสามารถทำการออกแบบได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เส้นต่างๆมาประกอบกัน

เทคนิคการสร้างแบบตัวอักษร
การออกแบบหรือสร้างแบบตัวอักษรหรือการเลือกแบบตัวอักษรในแต่ละครั้งจะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานนั้นๆ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ตัวอักษรที่นำมาใช้เป็นข้อความต่างๆ ย่อย
จะมีลักษณะอย่างหนึ่งตามชนิดของงานกราฟฟิคเช่น ตัวอักษรที่เป็นหัวเรื่องชื่อสินค้า แผ่นป้ายโฆณา หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เทคนิคการออกแบบตัวอักษรจึงมีความหลากหลาย มีการดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบแตกต่างกันไป ได้แก่
1.การออกแบบตัวอักษรบนแนวระนาบตรง
2.การออกแบบตัวอักษรบนแนวระนาบโค้ง
3.การออกแบบตัวอักษรบนพื้นที่จำกัด
4.การออกแบบตัวอักษรเงา
5.การออกแบบตัวอักษรแบบจุดรวมสายตา
6.การออกแบบตัวอักษรแบบอิสระ
7.การตกแต่งตัวอักษร

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หลักการและขั้นตอนการออกแบบอักษรประดิษฐ

ในการออกแบบประดิษฐอักษร นอกจากจะแฝงไว้ซึ่งความต้องการให้อ่านง่ายและมีความชัดเจนในรูปแบบแล้ว ยังต้องให้ตอบสนองจุดประสงค์อันลึกซึ้งอันเกี่ยวกับลีลาทางความสวยงาม ที่อาจจะแสดงในรูปของสัญลักษณ์เพื่อสร้างความอยากรู้อยากเห็นเน้นความสำคัญ เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ตลกขบขันหรือสร้างความพิศวง
หลักการออกแบบ ความสวยงามของรูปแบบตัวอักษรและอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยพื้นฐานทางศิลปะเป็นหลักปฏิบัติ โดยที่ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.ความมีเอกภาพ (Unity)
2.มีความกลมกลืน (Harmony)
3.มีสัดส่วนที่สวยงาม (Proportion)
4.มีความสมดุล (Balance)
5.ช่วงจังหวะ (Rhythm)
6.มีจุดเด่น (Emphasis)

การออกแบบตัวอักษร (Lettering Design)
ในการออกแบบตัวอักษรที่จะใช้ในงานกราฟฟิคจะเริ่มต้นจากการศึกษาถึงโครงสร้างของตัวอักษรซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวจะมีแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรคขึ้นมาใหม่จะต้องอยู่ในพื้นฐานของโครงสร้างหลักเป็นสำคัญ เพราะการออกแบบที่ดีและสวยงามต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งมีผลต่อการอ่านด้วย


การจัดสัดส่วนและระยะของช่องไฟจะเห็นได้ว่าตัวอักษรข้อความที่ถูกออกแบบจัดวางอย่างพอเหมาะพองาม อ่านง่าย ดูสบายตา จะทำให้ชวนดูชวนอ่าน

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตัวอักษรในการออกแบบกราฟฟิค

ในการออกแบบกราฟฟิคนั้นการใช้ตัวอักษรเพื่อสื่อความหมายในงานนั้นก็มีลักษณะเด่นๆอยู่ 2 ลักษณะที่ชัดเจนการแบ่งประเภทของตัวอักษรอาจแบ่งได้ตามลักษณะเฉพาะของการออกแบบตัวอักษรได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันดังนี้
1.แบบราชการหรือแบบเป็นทางการ มีลักษณะเด่นคือ มีรูปแบบเรียบง่าย เป็นระเบียบมีลักษณะเส้นเป็นแบบเส้นตรงเป็นส่วนใหญ่ สามารถนำไปใช้เป็นแบบหัวเรื่อง ชื่อสถานที่ หรือใช้เป็นข้อความบรรยายได้
2.แบบอิสระ ตัวอักษรนี้มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามลักษณะงานที่นำไปใช้ ส่วนมากจะใช้ในงานออกแบบสื่อโฆษณา สิ่งพิมพ์ หัวเรื่อง ปกวารสาร นิตยสารตลอดจนงานเกี่ยวกับความบันเทิง รูปแบบตัวอักษรมีลีลาของเส้นเป็นแบบอิสระไม่แน่นอน



ซึ่งตัวอักษรทั้งสองลักษณะนี้ยังสามารถเอามารวมกันได้อย่างสวยงามและเหมาะสมได้ตามแต่นักออกแบบกราฟฟิคจะต้องการนำเสนอ

หลังจากที่เราเรียนรู้ถึงลักษณะเด่นๆของตัวอักษรแล้วเราก็จะมาเรียนรู้ถึงหลักการและขั้นตอนการออกแบบตัวอักษร ในบทความต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หลักการใช้เส้นในการออกแบบตัวอักษรเพื่อใช้ในงานกราฟฟิคดีไชน์

หลักการใช้เส้นในการออกแบบตัวอักษรเพื่อใช้ในงานกราฟฟิคดีไชน์
หลังจากเราได้เรียนรู้การใช้ตัวอักษร (Font) ในการออกแบบกราฟฟิคว่าควรจะใช้ฟอนต์ลักษณะไหนจัดว่างอย่างไร
ฟอนต์ (Font) หรือ ตัวอักษรเกิดจากการนำเส้นมาประกอบกันเพื่อให้เกิดรูปร่าง เพื่อการออกแบบจะเน้นทำให้เกิดผลทางความรู้สึกในการมองเห็น ความชัดเจนในการอ่านและความน่าสนใจในรูปร่างละรูปแบบของตัวอักษร
การเลือกใช้เส้นที่มีลักษณะต่างๆกัน มาทำการออกแบบจึงควรพิจารณาอย่างเหมาะสม บางครั้งอารมณ์ของเส้นอาจเป็นความตั้งใจในการเขียนหรือออกแบบ อารมณ์และความรู้สึกของเส้นนั้นย่อมจะแตกต่างกันไปตามที่เคยศึกษามาจากหลักการใช้เส้นในการออกแบบและความหมายของเส้น ดังตัวอย่าง



เส้นที่นำมาเขียนเป็นตัวอักษรหรือฟอนต์ นอกจากจะทำให้เกิดรูปร่างลักษณะต่างๆแล้ว ยังทำให้เป็นรูปแบบ ตัวอักษรอีกด้วยดังนี้
1.ตัวเส้นเรียบ เป็นตัวอักษรที่มีเส้นขนาดเท่ากับหลอด และมีขอบเส้นตัวอักษรตรงเรียบ
2.ตัวเส้นวาดเขียน เป็นแบบตัวอักษรที่มีขนาดเส้นหนาบางต่างกัน ซึ่งมีลีลาค่อนข้างอิสระ อันเกิดจากการเขียนด้วยปากกาหรือพู่กัน
3.ตัวเส้นอิสระ เป็นลักษณะตัวอักษรที่มีลักษณะเส้นไม่แน่นอน อาจเป็นเส้นหยัก เส้นโค้งงอ หรือเส้นซิกแซก หรืออาจจะเป็นลักษณะของลวดลายประกอบก็ได้

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หลักการใช้เส้นในการออกแบบกราฟฟิค

หลักการใช้เส้นในการออกแบบกราฟฟิค
เส้นมีส่วนสำคัญในงานออกแบบกราฟฟิคอย่างมากแต่เรามักมองข้ามความหมายของเส้นที่สามารถบอกอารมณ์ความรู้สึกของงานออกแบบกราฟฟิค เส้น (Line)คือ ร่องรอยที่เกิดจากจุดวางเรียงต่อ ๆ กันไปก็จะเกิดเป็นเส้นขึ้น เส้นมีมิติเดียว คือ ความยาว ไม่มีความกว้าง ทำหน้าที่เป็นขอบเขตของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก สี ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแกนหรือ โครงสร้างของรูปร่างรูปทรง
เส้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของงานศิลปะทุกชนิด เส้นสามารถให้ความหมาย แสดงความรู้สึก และอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง และด้วยการสร้างเป็นรูปทรงต่าง ๆ ขึ้น เส้นมี 2 ลักษณะคือ เส้นตรง (Straight Line) และ เส้นโค้ง (Curve Line) เส้นทั้งสองชนิดนี้เมื่อนำมาจัดวางในลักษณะต่าง ๆ กัน จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ และให้ความหมาย ความรู้สึกที่แตกต่างกันอีกด้วย
ลักษณะของเส้นที่สื่อความหมายในงานออกแบบกราฟฟิค
1. เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง ให้ความรู้สึกทางความสูง สง่า มั่นคง แข็งแรง หนักแน่นเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อตรง
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกทางความกว้าง สงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย
3. เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง
4. เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก แบบฟันปลา ให้ความรู้สึก คลื่อนไหว อย่างเป็นจังหวะ มีระเบียบ ไม่ราบเรียบ น่ากลัว อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง
5. เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพอ่อนโยน นุ่มนวล
6. เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่หมุนวนออกมา ถ้ามองเข้าไปจะเห็นพลังความเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด
7. เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง การเปลี่ยนทิศทางที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง
8. เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง ขาด หาย ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเครียด

ลักษณะเส้นในแบบต่างๆ

ความสำคัญของเส้นในการออกแบบกราฟฟิค
1. ใช้ในการแบ่งที่ว่างออกเป็นส่วน ๆ
2. กำหนดขอบเขตของที่ว่าง หมายถึง ทำให้เกิดเป็นรูปร่าง (Shape) ขึ้นมา
3. กำหนดเส้นรอบนอกของรูปทรง ทำให้มองเห็นรูปทรง (Form) ชัดขึ้น
4. ทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อนแก่ ของแสดงและเงา หมายถึง การแรเงาด้วยเส้น
5. ให้ความรู้สึกด้วยการเป็นแกนหรือโครงสร้างของรูป และโครงสร้างของภาพ